Last updated: 9 ก.พ. 2566 | 563 จำนวนผู้เข้าชม |
ผังเมือง
ผังเมือง จะถูกออกแบบโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อกำหนดความเป็นอยู่ของคนในเมืองนั้นๆ ว่าอะไรจะอยู่ตรงไหน ห้ามสร้างอะไร เพื่อให้บ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและจัดการง่ายที่สุด
ผังเมืองจะมีกฎหมายผังเมือง หลักที่ๆเราต้องรู้คือ สีต่างๆ หรือ อักษรตัวย่อ เพื่อได้รู้ว่าเราอยู่ใกล้อะไร เขตเราเป็นแบบไหน สร้างอะไรได้ ห้ามสร้างอะไร โดย สรุปง่ายๆได้ดังนี้ (ใครอยากเช็คสีอย่างเดียวข้ามไปท้ายๆบทความได้เลย แต่ก็ควรรู้ก่อนนะว่าสีไหนหมายถึงอะไร)
หากแยกสีเบื้องต้น แยกได้ดังนี้
เขตสีเหลือง คือ ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย
เขตสีส้ม คือ ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง
เขตสีน้ำตาล คือ ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก
เขตสีแดง คือ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม
เขตสีม่วง คือ ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า
เขตสีเม็ดมะปราง คือ ที่ดินประเภทคลังสินค้า
เขตสีม่วงอ่อนคือ ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ
เขตสีเขียว คือ ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม
เขตสีเขียวมะกอกคือ ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา
เขตสีขาวมีกรอบและเส้นทะแยงสีเขียว คือ ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม
เขตสีน้ำตาลอ่อน คือ ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย
เขตสีเทา คือ ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา
เขตสีน้ำเงิน คือ ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ
การแบ่งที่เดินและสีผังเมืองที่ควรรู้
1.ที่ดินประเภทอยู่อาศัย
ที่ดินสำหรับอยู่อาศัยมีสีคือ เหลือง ส้ม น้ำตาล มี ย.1-ย.10 กำกับ
สีเหลือง ความหนาแน่นของการอยู่อาศัยต่ำ (คนอยู่น้อย)
สีส้ม ความหนาแน่นของการอยู่อาศัยปานกลาง
สีน้ำตาล ความหน่าแน่นของการอยู่อาศัยสูง (คนอยู่เยอะ)
อธิบายเพิ่มเติม ที่ดินประเภทอยู่อาศัย
สีเหลือง มักจะเป็นที่ดินที่อยู่แถบชานเมือง จะมี ย.1-ย.4 กำกับ
ย.1 และ ย.3 คือบริเวณที่ส่งเสริมให้รักษาสภาพแวดล้อมการอาศัยที่ดีไว้
ย.2 มุ่งไปที่การรับรองการขยายตัวของชานเมือง
ย.4 มุ่งไปที่ชานเมืองที่มีการให้บริการระบบขนส่งมวลชน
ประเภทการก่อสร้าง
ย.1 สร้างได้เฉพาะบ้านเดี่ยว
ย.2 บ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮ้าส์
ย.3 เป็นต้นไป สามารถสร้างอาคารชุดขนาดเล็ก-ขนาดกลางได้
สีส้ม มักจะเป็นที่ดินที่มีบริเวณติดต่อเนื่องกับเขตเมืองชั้นใน จะมี ย.5-ย.7 กำกับ
ย.5 มุ่งไปที่การรับรองการขยายตัวของการอยู่อาศัยในพื้นที่ติดต่อกับเขตเมืองชั้นใน
ย.6 มุ่งไปที่บริเวณที่เป็นชุมชนชานเมือง เขตอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม
ย.7 มุ่งไปที่การใช้ที่ดินรองรับการอยู่อาศัยเฉพาะพื้นที่ต่อเนื่องกับเขตเมืองชั้นใน ที่มีระบบขนส่งมวลชน
ประเภทการก่อสร้าง
ย.5-ย.7 จะสามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกรูปแบบ (แต่ก็มีเงื่อนไขนะ)
สีน้ำตาล มักจะเป็นที่ดินที่อยู่ในเมืองชั้นใน จะมี ย.8-ย.10 กำกับ
ย.8 มุ่งให้ความสำคัญการรักษาทัศนียภาพ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
ย.9 มุ่งเน้นบริเวณเมืองชั้นในที่มีการให้บริการของระบบขนส่งมวลชน
ย.10 เขตเมืองชั้นในที่ต่อกับย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง ขนส่ง
ประเภทการก่อสร้าง
ที่ดินสีน้ำตาลสามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกรูปแบบ มักเป็นที่ดินที่มีมูลค่าสูง
2.ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม
ที่ดินสำหรับการพาณิชย์เป็นหลัก ใช้สีแดง มีรหัสกำกับ พ.1-พ.5
สีแดง พ.1 – พ.2 อยู่ชานเมือง ใช้ที่ดินเพื่อเป็นศูนย์พาณิชยกรรมของชุมชน กระจายกิจกรรมการค้า บริการ นันทนาการ ให้แก่คนในพื้นที่
สีแดง พ.3 เหมือน พ.1 และ พ.2 แต่กลุ่มเป้าหมายคือทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนที่อาศัยในพื้นที่
สีแดง พ.4 ใช้ที่ดินเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การค้า บริการ นันทนาการ ท่องเที่ยว โดยจะตั้งอยู่พื้นที่ที่ระบบขนส่งมวลชนเข้าถึงได้ง่าย
สีแดง พ.5 ขยายจาก พ.4
ประเภทการก่อสร้าง
พื้นที่สีแดงสามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้เช่นกัน มีข้อจำกัดน้อยกว่าสีอื่น
3.ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม
ที่ดินสีม่วง ใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมอุตสาหกรรม มี อ.1-อ.3 กำกับ
สีม่วง อ.1 ประกอบกิจการที่มีมลภาวะต่ำ
สีม่วง อ.2 อุตสาหกรรมการผลิต
สีม่วง อ.3 กำหนดให้เป็นพื้นที่คลังสินค้าสำหรับการขนส่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเภทการก่อสร้าง
สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ เช่น บ้านเดี่ยว หอพัก คอนโดขนาดเล็ก ร้านค้า แต่ไม่สามารถสร้างอาคารสูง หรืออาคารชุดขนาดใหญ่ได้
* ตรงพื้นที่สีม่วง จะมี พ.ร.บ โรงงาน ที่กำหนดเรื่องความปลอดภัย ขนาด และมีข้อกำหนดว่าที่พักควรห่างจากโรงงานเท่าไร ห้ามตั้งโรงงานใกล้. สถานที่แบบไหน เช่น ห้ามตั้งโรงงานใกล้บ้านพัก โรงเรียน วัด โรงพยาบาล และทำเลต้องเหมาะสมอีกด้วย และสีที่เหลือ ที่ควรรู้จะไม่ขอลงรายละเอียดมาก
3. ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (อนุรักษ์ด้วย)
พื้นที่สีเขียว ใช้กรอบขาวและเส้นทแยงสีเขียว มีรหัสกำกับคือ ก.1-ก.3 จุดมุ่งหมายหลักคือใช้ที่ดินเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการเพาะเลี้ยง การทำการเกษตร
4.ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมไทย
พื้นที่สีน้ำตาลอ่อน จะเห็นตามเกาะรัตนโกสินทร์ ใช้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ศิลปะ ส่งเสริมการท่องเที่ยว มีรหัสกำกับ ศ.1-ศ.2
ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
พื้นที่สีน้ำเงิน เป็นที่ดินของรัฐ ใช้เพื่อเป็นสถานที่ราชการ หรือ วัด(สถาบันศาสนาจะเป็นสีเทา) สถาบันการศึกษา อาจจะมีการนำมาใช้เช่า ให้สัมปทานกับเอกชน
วิธีเช็คว่าตัวเองอยู่เขตสีอะไร
https://landsmaps.dol.go.th/ ระบุเลขที่โฉนดของเราเพื่อดูได้เลย
map.nostramap.com เลือกชั้นข้อมูลทางซ้ายแล้วกดข้อมูลผังเมืองได้เลย
https://map.longdo.com/ กดเลือกชั้นข้อมูลตรงมุมขวาบน แล้วเลือกผังเมืองประเทศไทย
ช่องทางอื่น เช่น เว็บไซต์ที่ทำเกี่ยวกับการลงทุน ซื้อขายธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ก็จะมีให้เช็คเช่นกัน
การรู้ว่าเราอยู่ในเขตอะไร ทำให้เราตัดสินใจและรู้ว่าเราสามารถสร้างอะไรได้หรือสร้างไม่ได้ เราอยู่ใกล้จุดเสี่ยงไหม (เช่นโรงงานต่างๆ) บางครั้งชุมชนก็ไปสร้างหลังโรงงานแล้วก็ขยับเข้าใกล้จนได้รับอันตราย หรือกลับกันบางทีอยู่ดีๆมีสิ่งก่อสร้างมาสร้างใกล้บ้านเรา เราจะได้รู้สิทธิว่าเขาสามารถสร้างได้หรือไม่ นับว่าเป็นความรู้ที่เราควรมีเอาไว้เลย
credit : innnew
16 ม.ค. 2566